ความหมายของพิธีแห่ขันหมากตามประเพณีไทย
พิธีแห่ขันหมากเป็นพิธีที่สำคัญที่สุดในพิธีหมั้นช่วงเช้าเลยก็ว่าได้ ความหมายตามประเพณีของพิธีแห่ขันหมาก คือ การที่บ้านของฝ่ายชายป่าวประกาศว่าลูกชายของบ้านนี้กำลังจะเดินทางไปขอลูกสาวจากบ้านฝั่งเจ้าสาว และเพื่อเป็นการให้เกียรติบ้านฝ่ายหญิงว่าทางฝ่ายชายได้ยกขันหมากมาสู่ขอตามประเพณี มีผู้ใหญ่รับรู้ทั้งสองฝ่าย อีกทั้งยังเป็นการขออนุญาตผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาวในการที่จะขอเจ้าสาวมาเป็นคนรักหรือคู่ครองของตน
ในขบวนขันหมากของฝ่ายชายก็จะประกอบไปด้วยขบวนขันหมากเอกและขบวนขันหมากโท ขบวนขันหมากเอกจะมีพานหลักๆอยู่ทั้งหมด 5 พาน คือ พานขันหมากเอก พานธูปเทียนแพ พานแหวน พานสินสอด พานต้นกล้วยต้นอ้อย ส่วนขบวนขันหมากโทซึ่งจะถือเป็นบริวารของขบวนขันหมากเอกนั้น จะประกอบไปด้วยพานของผลไม้หรือขนมมงคลที่มีความหมายเพื่อความเป็นสิริมงคลของคู่รักหรือคู่บ่าวสาว โดยที่จำนวนของพานขันหมากโทจะไม่ได้มีกำหนดตายตัว จะสามารถเพิ่มหรือลดได้ตามขนาดของขบวนขันหมากฝั่งเจ้าบ่าว แต่โดยหลักประเพณี พานขนมมงคลจะมีลักษณะเป็น 2 พานคู่กัน เพราะถือเคล็ดเรื่องความหมายของการเป็นคู่








โดยในในบางพื้นที่ บางประเพณี จะมีการจัดให้มีวงกลองยาว เพื่อสร้างความสนุกสนานอยู่ด้านหน้าของขบวนเป็นสีสันของการแห่ขันหมาก โดยจะมีทางเจ้าภาพและแขกที่มาร่วมงานเต้นรำอย่างสนุกสนานด้วยเช่นกัน
โดยตำแหน่งขอขบวนขันหมากจะมีลำดับดังนี้
- เถ้าแก่ฝ่ายชายซึ่งเป็นผู้ที่ถือซองเงินสำหรับค่าผ่านประตู
- เจ้าบ่าว เป็นผู้ถือพานธูปเทียนแพพร้อมกับคุณพ่อคุณแม่
- พานต้นกล้วยต้นอ้อยจะยืนคู่อยู่ในตำแหน่งเดียวกัน
- พานแหวนและพานสินสอดจะยืนคู่อยู่ในตำแหน่งเดียวกัน
- ขบวนขันหมากโท
ทั้งนี้ในขบวนขันหมากของฝ่ายชายจะไม่ได้มีกำหนดตายตัวว่าจะต้องมีทั้งหมดกี่พานและยืนเรียงกันในรูปแบบไหน เพราะสุดท้ายแล้วประเพณีที่กล่าวมาก็มีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ด้วยเช่นกัน เราแนะนำให้ปรึกษาผู้ใหญ่ของทั้ง 2 บ้าน ว่ามีความเคยชินกับประเพณีแบบไหน เพราะในแต่ละพื้นที่ก็จะมีประเพณีที่มีความแตกต่างกันอยู่บ้างเล็กน้อย ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ ภาคตะวันออก ล้วนแล้วแต่มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง แต่ทั้งหมดจะยืนอยู่บนความหมายเดียวกัน รวมทั้งรูปแบบก็จะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ในยุคนี้อาจจะมีการผสมทั้งขันหมากไทยและจีนเข้าเอาไว้ด้วยกันเลยก็เป็นได้






ส่วนของฝ่ายหญิงจะมีพานเชิญขันหมากเพียงแค่พานเดียว โดยผู้ถือจะเป็นเด็กหญิงจากบ้านฝ่ายเจ้าสาวมาเป็นตัวแทนในการถือพานเชิญขันหมากที่จะต้อนรับขบวนขันหมากเข้าบ้านฝ่ายหญิง โดยในบริเวณบ้านฝ่ายเจ้าสาว จะมีการกั้นประตูขวางขบวนขันหมากโดยเพื่อนๆหรือญาติฝั่งเจ้าสาวเพื่อความสนุกสนาน โดยในแต่ละประตู เถ้าแก่ของฝั่งเจ้าบ่าวก็ต้องทำการเจรจาเพื่อที่จะขอผ่านประตู ซึ่งโดยปกติแล้วฝั่งเจ้าสาวก็จะเตรียมเกมส์เล็กๆน้อยๆเอาไว้ให้ฝ่ายเจ้าบ่าวเล่น เพื่อเพิ่มความสนุกสนานและบรรยากาศที่ดีของงาน เมื่อประตูฝ่ายเจ้าสาวอนุญาตให้ผ่านแล้วเถ้าแก่ฝ่ายเจ้าบ่าวก็จะมอบซองแดงเพื่อเป็นค่าผ่านประตูให้แก่ฝั่งเจ้าสาว ซึ่งโดยปกติจะไม่ได้มีการกำหนดจำนวนประตูของฝั่งเจ้าสาวว่าควรจะมีกี่ประตู แต่ควรจะเผื่อระยะเวลาให้พอดีกับพิธีการต่อไปนั้นคือพิธีการสวมแหวน
เมื่อขบวนขันหมากเดินทางเข้ามาถึงพื้นที่ที่ใช้สำหรับทำพิธี ทางบ้านเจ้าสาวก็จะส่งตัวแทนมาเป็นผู้รับพานขันหมากเพื่อนำขึ้นวางบนโต๊ะในพิธี ชุดพานขันหมากที่จะนำขึ้นวางบนโต๊ะในพิธีจะเป็นขบวนพานขันหมากเอก ส่วนพานขันหมากโทจะวางไว้บนโต๊ะที่จัดไว้บริเวณด้านข้างของเวที หลังจากนั้นนายพิธีก็จะเรียนเชิญคุณพ่อคุณแม่รวมถึงเถ้าแก่ของทั้ง 2 ฝ่ายขึ้นนั่งบนเก้าอี้ในพิธี
สำหรับขั้นตอนต่อไปคือขั้นตอนการสู่ขอ เถ้าแก่ฝ่ายเจ้าบ่าวจะเป็นตัวแทนของครอบครัวเจ้าบ่าวกล่าวคำสู่ขอกับทางฝ่ายเจ้าสาว หลังจากนั้นเถ้าแก่ฝ่ายเจ้าสาวก็จะเป็นตัวแทนของครอบครัวเจ้าสาวกล่าวคำตอบรับการสู่ขอ เมื่อฝ่ายหญิงอนุญาตเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็จะให้เจ้าบ่าวถือช่อดอกไม้ไปรับตัวเจ้าสาวเข้ามาในพิธี โดยในบางครอบครัวอาจจะยังยึดถือธรรมเนียมปฏิบัติแบบโบราณนั่นคือจะให้คุณแม่เป็นคนเดินออกไปพาตัวเจ้าสาวเข้ามาในห้องพิธี อันนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการของคู่บ่าวสาวและธรรมเนียมปฏิบัติของแต่ละครอบครัว
เมื่อเจ้าสาวเข้ามาร่วมพิธีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการส่งมอบสินสอดทองหมั้น ซึ่งในขั้นตอนนี้จะรวมถึงการตรวจนับสินสอดและโปรยข้อตอกดอกไม้พร้อมทั้งอวยพรให้คู่บ่าวสาว ในธรรมเนียมปฏิบัติปัจจุบันก็จะให้เริ่มจากทางบ้านฝ่ายเจ้าสาวเป็นคนเป็นผู้เริ่มโปรยก่อน แล้วตามด้วยเถ้าแก่ฝ่ายเจ้าสาว ต่อมาเป็นเถ้าแก่ฝ่ายเจ้าบ่าว และจะจบด้วยครอบครัวฝ่ายเจ้าบ่าวเป็นคู่สุดท้ายที่จะโปรดเข้าตอกดอกไม้ ก่อนที่พิธีกรจะเชิญให้คุณแม่เจ้าสาวลุกขึ้นมาเก็บสินสอด ซึ่งจะมีพานทองพร้อมกับผ้าห่อสินสอดที่ใช้ในการรวบสินสอดเอาไว้ในผ้าผืนเดียวกัน หลังจากนั้นคุณแม่เจ้าสาวก็จะแบกสินสอดขึ้นมาตามธรรมเนียมของคนไทย และส่งมอบสินสอดนั้นให้ผู้ดูแลสินสอด เพิ่งจะเป็นพี่น้องหรือคนในครอบครัวเป็นคนช่วยดูแลไว้ เพราะคุณแม่จะยังต้องอยู่ทำพิธีบนเวทีกับคู่บ่าวสาวก่อน ซึ่งในขั้นตอนต่อไปจะเป็นพิธีสวมแหวนของคู่บ่าวสาว