ของชำร่วยในพิธียกน้ำชา หรือพิธีรับไหว้

สมัยก่อนจะนิยมให้กันเป็น “ผ้าไหว้” สำหรับให้ผู้ใหญ่ไว้ตัดชุด พอยุคสมัยเริ่มเปลี่ยนแปลงไป การให้ผ้าสำหรับตัดชุดก็เริ่มมีการประยุกต์เป็นการให้ผ้าขนหนูหรือเช็ดตัวแทน เพราะการซื้อผ้าตัดชุดยากที่จะเลือกแล้วให้ถูกใจผู้ใหญ่ทุกคน และความนิยมในการตัดชุดใส่เองก็เริ่มน้อยลงเปลี่ยนเป็นซื้อสำเร็จกันมากกว่า ส่วนผ้าเช็ดตัวนั้นมีประโยชน์ใช้สอยสูง ใช้ได้ทุกเพศทุกวัย เรียกว่าได้ไปถูกใจคนรับอย่างแน่นอน แต่ยุคสมัยก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆจนในปัจจุบันเราตีความของที่ให้ในพิธียกน้ำชาหรือพิธีรับไหว้ว่าเป็นของชำร่วยที่เราให้กับญาติผู้ใหญ่แทนคำขอบคุณที่มอบของขวัญหรือเงินขวัญถุงให้กับเราในวันแต่งงานนั่นเอง ดังนั้นการเลือกของขวัญหรือของชำร่วยนี้จึงเปิดกว้างมากขึ้น ไม่จำกัดอยู่เพียงแค่ผ้าเช็ดตัวเท่านั้นอีกต่อไปแล้ว

หลักเกณฑ์ในการเลือกของชำร่วยรับไหว้หรือยกน้ำชา

1. เลือกของดีมีคุณภาพสูง ของชำร่วยก็มีหลายเกรด สำหรับของชำร่วยในพิธียกน้ำชาหรือรับไหว้ เป็นของชำร่วยที่ค่อนข้างมีความสำคัญ เนื่องจากเป็นของชำร่วยที่เราให้ญาติผู้ใหญ่ซึ่งเป็นญาติสนิท และให้เพื่อเป็นการขอบคุณท่านที่รักและเอ็นดูเราและคู่ครองของเรา แนะนำให้เลือกของที่มีแพ็คเกจสวยงามให้มาด้วยเลย หรือ ของที่มีแบรนด์เป็นที่รู้จัก ผู้รับจะรู้สึกว่าเราใส่ใจเลือกสิ่งที่ดีมาให้ และเราก็จะไม่ต้องลำบากไปหาแพ็คเกจใส่ให้วุ่นวาย

2. เลือกของที่มีความเป็นกลาง สามารถใช้งานได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง และควรให้เหมือนกันทุกคนเพื่อป้องกันการมีปัญหาทีหลัง หากจะเลือกของให้แต่ละคนไม่เหมือนกัน ก็ควรทำแบบเดียวกันกับแขกที่ขึ้นยกน้ำชาหรือรับไหว้ทุกคน แต่ก็ต้องทำใจหากว่าของที่เราตั้งใจเลือกให้แต่ละบุคคลอาจจะไม่ถูกใจทุกคนได้ นอกจากนี้ยังเสี่ยงมีปัญหาแขกอยากได้ของของแขกท่านอื่นเพราะชอบมากกว่าของของตนเองอีกด้วย ดังนั้นเลือกให้เป็นกลางและเหมือนกันทุกคนจะดีที่สุด ยกเว้นของคุณพ่อคุณแม่เจ้าบ่าวเจ้าสาวที่อาจเลือกให้พิเศษกว่าแขกท่านอื่นๆได้ เพราะจะเป็นที่ยอมรับและไม่มีข้อกังขา แต่ก็ควรระวัง หากจะซื้อให้พิเศษแล้วก็ควรจะพิเศษทั้งของคุณพ่อคุณแม่เรา และคุณพ่อคุณแม่คู่ของเราด้วย เป็นเรื่องเล็กน้อยที่ห้ามมองข้ามอย่างเด็ดขาด!

3. ไม่ควรเลือกของที่แตกหักง่าย เพราะนอกจากจะความหมายไม่ดีแล้ว แขกที่ได้รับไปก็จะไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อีกด้วย แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะซื้อแก้ว ถ้วยชา หรืออะไรที่เป็นแก้วให้ไม่ได้ เพียงแต่ให้เลือกแบบที่มีกล่องแพ็คเกจที่ดูปลอดภัย แข็งแรง และสวยงาม เท่านี้ก็ใช้ได้แล้ว

4. น้ำหนัก เป็นเรื่องเล็กน้อยแต่มีความสำคัญมาก เพราะหากเราเลือกของใหญ่โตหรือมีน้ำหนักมาก ตอนมอบในพิธีนอกจากจะยกมอบให้ลำบากแล้ว แขกที่ได้รับไปจะเป็นภาระต้องคอยถือไปตลอดทั้งงานด้วย

5. มีถุงสวยงามสำหรับให้แขกถือได้สะดวก เป็นสิ่งเล็กน้อยที่ไม่ควรมองข้ามอีกเช่นกัน เพราะลองนึกดูว่าในพิธีเรามอบของเป็นกล่องสวยงาม แต่พอลงมาแล้วเราไม่ได้เตรียมถุงไว้ให้ท่าน ท่านก็จะต้องหอบกล่องนี้ไปด้วยตลอดทั้งงาน หากมีถุงสวยๆใส่ให้ท่านด้วย ท่านก็จะหิ้วไปมาได้อย่างสะดวกสบาย เป็นไปได้ก็ควรเลือกเป็นถุงกระดาษสวยๆ เพราะจะดูดีกว่าถุงพลาสติกและยังเป็นการรักษ์โลกอีกด้วย มีข้อยกเว้นสำหรับถุงพลาสติกที่เป็นของห้างสรรพสินค้า อนุโลมให้ใช้ได้เพราะยังดูดีไม่น่าเกลียด และยังเป็นการบอกว่าเราซื้อของขึ้นห้างมาใช้เป็นของชำร่วยได้อีกด้วย

6. จำนวนของชำร่วย การจะนับจำนวนของชำร่วยได้ เราต้องทราบก่อนว่าที่บ้านเรามีธรรมเนียมการมอบของชำร่วยในพิธีรับไหว้หรือพิธียกน้ำชาอย่างไร

การมอบของชำร่วยในพิธีรับไหว้หรือพิธียกน้ำชาโดยทั่วไป ที่นิยมปฏิบัติกันทั้งในธรรมเนียมไทยและธรรมเนียมจีนคือ ถ้าผู้ที่ขึ้นรับไหว้เป็นคู่สามีภรรยากันจะมอบของชำร่วยให้คู่ละ 1 ชิ้น ส่วนผู้ที่ยังไม่มีสามีหรือภรรยาจะได้รับของชำร่วยคนละ 1 ชิ้น แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับธรรมเนียมของแต่ละบ้านด้วย เพราะบางบ้านไม่ว่าจะเป็นโสดหรือแต่งงานแล้วก็จะมอบของชำร่วยให้ผู้ที่ขึ้นรับไหว้หรือยกน้ำชาคนละ 1 ชิ้นเลยก็มี

เมื่อทราบแล้วว่าเราจะมอบของชำร่วยให้แขกอย่างไร เราก็สามารถนับจำนวนตามรายชื่อที่เราลิสออกมาได้เลย แต่แนะนำว่าให้สั่งของชำร่วยเผื่อจากจำนวนที่นับได้เอาไว้สัก 1-5 ชิ้น เผื่อว่ามีแขกที่ตกหล่นแล้วนึกได้ใกล้ๆงาน หรือมีแขกผู้ใหญ่มาแสดงเจตจำนงที่หน้างาน เราจะได้มีของชำร่วยให้ท่านได้