โดยส่วนมากลักษณะของสินสอดจะแบ่งเป็น เงินสด เช็ค ทองคำ เครื่องประดับ และอาจจะรวมไปถึงโฉนดที่ดิน โดยบางคู่อาจจะมีกุญแจรถเพิ่มเติมอีกด้วย ทั้งนี้ รูปแบบของสินสอดขึ้นอยู่กับข้อตกลงของทั้งสองฝ่ายเป็นหลัก เราจะแบ่งรายการสินสอดออกเป็น 3 รูปแบบหลักๆตามนี้

บ้านฝ่ายชายเป็นผู้จัดหาสินสอด
ในกรณีแรกจะเป็นการเตรียมสินสอดตามประเพณีไทย หลังจากที่เถ้าแก่ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงพูดคุยกันในเรื่องสินสอดทองหมั้นที่จะใช้ในพิธีและมอบให้บ้านของเจ้าสาวเอาไว้เป็นผู้ดูแลแล้ว เจ้าบ่าวและครอบครัวของเจ้าบ่าวควรจะทำรายการสินสอดทั้งหมด เพราะทุกอย่างเป็นของมีค่าโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีเครื่องประดับที่เป็นมรดกตกทอดของครอบครัว การทำรายการให้ชัดเจนจะช่วยลดความวุ่นวายในการจัดเตรียมสินสอดที่จะใช้ร่วมพิธีแห่ขันหมาก รวมไปถึงบ่าวสาวจะสามารถนับจำนวนเพื่อสั่งทำกล่องใส่สินสอดและเครื่องประดับได้อีกด้วย
บ่าวสาวเป็นผู้จัดหาสินสอดร่วมกัน
คู่บ่าวสาวยุคใหม่อาจจะมองเรื่องการมอบสินสอดให้บ้านฝ่ายหญิงเป็นพิธีที่ทำขึ้นเพื่อให้เกียรติบ้านฝ่ายหญิงเพียงอย่างเดียว แต่จำนวนเงินและของมีค่าทั้งหมด คู่บ่าวสาวเป็นผู้ร่วมการจัดหาและเตรียมมาเพื่อใช้ในพิธีการ อาจจะมีการตกลงกับทางบ้านของฝ่ายเจ้าสาวเอาไว้ก่อนว่าทรัพย์สินและเงินทองในส่วนนี้ คุณพ่อคุณแม่ของบ้านเจ้าสาวจะยกให้ลูกทั้งสองคนเอาไว้เป็นเงินขวัญถุงหรือเงินที่ใช้ในการสร้างเนื้อสร้างตัวต่อไปในอนาคต เราจะแนะนำให้ทั้งเจ้าบ่าวและเจ้าสาวพูดคุยและตกลงกันเพื่อทำรายการของสินสอดทั้งหมดที่จะใช้ในพิธีเช่นกัน

บ้านฝ่ายหญิงสมทบเงินขวัญถุงให้กับคู่บ่าวสาว
ในกรณีที่บ้านฝ่ายชายตกลงจะเป็นผู้จัดหาสินสอดมามอบให้บ้านฝ่ายหญิง แต่บ้านฝ่ายหญิงไม่ได้มีเจตนาที่จะเก็บรักษาและดูแลสินสอดเหล่านี้ ครอบครัวฝ่ายหญิงก็จะมอบสินสอดทั้งหมดให้กลับไปที่คู่บ่าวสาวเพื่อเป็นเงินขวัญถุงที่ใช้ในการสร้างเนื้อสร้างตัว ซึ่งโดยปกติแล้วทางบ้านฝ่ายหญิงก็จะมอบเงินสมทบเข้าไป เพื่อเป็นสัญลักษณ์ที่บอกว่าเจ้าสาวไม่ได้มาตัวเปล่า แต่ก็มีทรัพย์สินเงินทอง ติดตัวมาเพื่อใช้ในการสร้างครอบครัวพร้อมกับเจ้าบ่าวด้วยเช่นกัน
การคอนเฟิร์มรายการเครื่องประดับและสินสอดที่จะใช้ในพิธีแต่งงานกับคุณพ่อคุณแม่ถือเป็นสิ่งที่สำคัญขั้นตอนหนึ่ง บ่าวสาวควรจะหาเวลาเพื่อที่จะนั่งคุยกับคุณพ่อคุณแม่โดยเตรียมรายการของสินสอดและเครื่องประดับเตรียมไปก่อน ถ้ามีโอกาสเราจะแนะนำให้ทางเจ้าบ่าวและเจ้าสาวพูดคุยกับคุณพ่อคุณแม่เรื่องประเพณีหรือแนวปฏิบัติที่ครอบครัวของคุณ เพราะทั้ง 2 บ้านอาจจะมีความเชื่อที่แตกต่างกัน
อ่านต่อ..
ในกรณีที่สินสอดเป็นเงินสด บ่าวสาวจำเป็นจะต้องติดต่อธนาคารล่วงหน้าในกรณีที่ต้องการแบงค์ใหม่และต้องการเงินสดที่มีแถมรัดเป็นปึก ถ้าในกรณีที่จะใช้เป็นแคชเชียร์เช็คแทนเงินสด ก็ให้ตกลงกันให้เรียบร้อยว่าจะระบุให้ใครเป็นผู้รับ ส่วนทองคำและเครื่องประดับควรจะนำออกมาจากตู้เซฟเพื่อตรวจสอบสภาพและความสะอาดเรียบร้อยก่อนล่วงหน้า เครื่องประดับเหล่านี้อาจจะผ่านการใช้งานมาบ้างควรจะทำความสะอาดให้เรียบร้อย สำหรับทองคำ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบทองรูปพรรณหรือทองคำแท่งก็ตาม โดยส่วนมากจะอยู่ในแพ็คเกจที่ทางร้านทองให้มาด้วยตั้งแต่ตอนซื้อ ส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นถุงสีแดงๆหรือเป็นกล่องพลาสติกสีแดง พอเวลาเอามารวมกันบนพานขันหมากก็จะขาดความสวยงาม แนะนำให้หากล่องใส่เฉพาะสำหรับทองคำและเครื่องประดับเหล่านี้ แยกแต่ละประเภทให้ชัดเจน ก่อนที่จะนำไปวางบนพานสินสอด
โฉนดที่ดินและกุญแจรถจะเป็นส่วนเพิ่มเติม สำหรับบางบ้านที่ต้องการมอบสินทรัพย์ให้กับคู่บ่าวสาว อาจจะทำซองใส่โฉนดที่ดินที่สามารถวางบนพานสินสอดและสามารถวางตั้งขึ้นได้ด้วย ถ้าในกรณีที่เป็นกุญแจรถก็อาจจะหาทำกล่องใส่ให้ดูสวยงาม เพราะโดยปกติการวางกุญแจรถไว้ในพานสินสอด นอกจากจะดูไม่เข้ากันกับสินสอดชนิดอื่นๆแล้ว ยังสามารถที่จะไหลไปมาและอาจจะทำให้เกิดการตกหล่นในช่วงแห่ขันหมากได้
โดยของมีค่าเหล่านี้ทั้ง 2 บ้านควรจะหาคนในครอบครัว หรือ ผู้ที่ไว้ใจได้เป็นผู้ดูแล ถ้ามีจำนวนมากอาจจะเลือกหาใส่กระเป๋าเดินทางไว้ ให้มีคนเฝ้าอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้แน่ใจว่าสินสอดทั้งหมดจะอยู่ในที่ปลอดภัย สิ่งที่ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่งเลยคือให้เจ้าบ่าวเป็นผู้ดูแล เพราะในวันงาน เจ้าบ่าวและเจ้าสาวก็ต้องคอยรับแขกอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน

ประเพณีการมอบสินสอดนอกจากจะมีความหมายต่อบ้านเจ้าสาวแล้วยังแสดงให้เห็นถึงความสามารถที่จะดูแลเจ้าสาวของฝั่งผู้ชายได้อีกด้วย ทั้งนี้ ประเพณีนี้เกี่ยวข้องกับสิ่งของมีค่า การทำรายการที่ชัดเจนเพื่อที่จะสื่อสารกับคนในครอบครัวจะช่วยลดปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้กับทั้งสองฝ่าย