สรุปรายละเอียดงานกับทางโรงแรมหรือสถานที่จัดงาน

โรงแรมหรือสถานที่จัดงานจะมีบทบาทสำคัญในวันงานแต่งงานของเรา มีหลายส่วนที่ทางสถานที่จัดงานจะต้องจัดเตรียมให้กับเรา ซึ่งทีมงานของแต่ละสถานที่ก็จะมีรูปแบบการทำงานหรือการดูแลตามรายละเอียดงานจากบ่าวสาวที่ไม่เหมือนกัน บางสถานที่จะตามรายละเอียดงานจากบ่าวสาวตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ก่อนถึงวันงาน บางสถานที่ก็ไม่ตามกลายเป็นหน้าที่ของบ่าวสาวที่ต้องอัฟเดตให้สถานที่ทราบ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นแบบไหนก็ตาม บ่าวสาวเองก็ควรจะต้องเตรียมข้อมูลเอาไว้ให้พร้อมอยู่แล้ว ซึ่งระยะเวลาที่เหมาะสมที่เราจะต้องอัฟเดตข้อมูลให้กับสถานที่จัดงานทราบคือ 1 เดือนก่อนวันงาน หรือช้าสุด 3 สัปดาห์ก่อนวันงาน เพื่อที่ทางสถานที่จัดงานจะได้นำข้อมูลจากบ่าวสาวไปเตรียมงานให้พร้อมทันวันงาน โดยเราจะขอแบ่งรายละเอียดข้อมูลที่ต้องสรุปให้กับทางสถานที่จัดงานแยกเป็นงานหมั้นและงานเลี้ยงฉลอง

งานหมั้น

1. จำนวนแขก หมายถึงจำนวนแขกทั้งหมดที่จะร่วมในงานรวมถึงตัวเจ้าบ่าวเจ้าสาว และครอบครัวด้วย เพื่อให้สถานที่จัดงานได้เตรียมที่นั่งเอาไว้ให้เพียงพอกับแขกที่มาร่วมงาน อาจแจ้งจำนวนเผื่อเอาไว้นิดหน่อยได้ เช่น แขกงานหมั้นประมาณ 100-120 คน เป็นต้น แต่ไม่ควรเผื่อเอาไว้เยอะ เพราะถ้าในพิธีเก้าอี้ว่างอยู่เยอะก็จะดูไม่สวยงาม

2. จำนวน coffee break หรืออาหารเช้า สำหรับรับรองแขก แจ้งจำนวน และเลือกรายการอาหารให้เรียบร้อย อาหารเช้าหรือของว่างตอนเช้าเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม หลายคนเอาตัวเองเป็นหลักว่าตอนเช้าๆไม่ทานอาหารกันหรอก แต่ในความเป็นจริงแล้วแขกทานกันทุกงาน เพราะว่าตื่นมาแต่เช้า ต้องออกเดินทาง ทำกิจกรรมแต่เช้า ก็จะมีอาการหิวกันแทบทุกคน และลองนึกดูว่าถ้าเราไปร่วมงานแล้วไม่มีอะไรไว้รับรองเลย ไม่มีแม้แต่แซนวิช หรือกาแฟ จะดูไม่ดีขนาดไหน ถ้าคิดว่าแขกจะไม่ค่อยทานกันจะสั่งไม่เท่าจำนวนแขกที่มาจริงก็ได้ เช่น แขกทั้งหมด 100 ท่าน สั่งอาหารว่าง 50 ที่ก็ได้ แต่ควรคุยเผื่อเอาไว้ในกรณีที่หน้างานแขกเกิดทานกันทุกคน แล้วอาหารที่สั่งไว้ไม่พอ เราจะสามารถสั่งเพิ่มที่หน้างานได้ทันหรือไม่ ควรมีแผนสำรองเผื่อเอาไว้ด้วย

3. แจ้งลำดับพิธีการ ถ้าทำลำดับพิธีการต่างๆเสร็จเรียบร้อยแล้วก็สามารถส่งตัวเต็มให้กับทางทีมสถานที่จัดงานได้เลย หรือถ้ายังไม่เสร็จดีทำเป็นตัวย่อให้กับทางสถานที่จัดงานก็ได้ ตัวย่อในที่นี้หมายถึง แจ้งพิธีการและเวลาในแต่ละพิธีให้สถานที่ทราบไว้ก่อน ทางสถานที่จะได้ไปวางแผนกับทีมงาน และเตรียมคนในการทำงานได้อย่างเพียงพอ

4. แจ้งธีมสีของงานรวมทั้งเลือกสิ่งของที่ต้องใช้ในพิธีการ โดยปกติในแพ็คเกจของสถานที่จัดงานจะมีดอกไม้ตกแต่งงานมาให้บางส่วนด้วย ดังนั้นการแจ้งสีของธีมงานในตอนเช้าจะช่วยให้สถานที่จัดเตรียมดอกไม้ออกมาได้เข้ากับงานและของใช้ในส่วนอื่นๆที่เราเตรียมมาเอง เช่น เข้ากับสีดอกไม้ของพานขันหมาก เป็นต้น 

ในส่วนของการเลือกสิ่งของที่ต้องใช้ในพิธีการต่างๆที่เป็นส่วนที่สถานที่จัดงานเตรียมให้ เราต้องมาดูก่อนว่าเรามีพิธีการอะไรบ้าง แล้วไล่ไปทีละพิธีการว่ามีส่วนไหนของแต่ละพิธีที่เป็นส่วนที่สถานที่ต้องเตรียมให้เราบ้าง แล้วของที่สถานที่เตรียมให้มีตัวเลือกให้เลือกหรือไม่ เช่น เก้าอี้ที่อยู่บนเวทีในพิธีสู่ขอ มีให้เลือกกี่แบบ ถ้าเราต้องใช้จำนวน…ตัว มีเพียงพอหรือไม่ เป็นต้น

ในส่วนนี้อย่าลืมเอาสัญญามากางดูประกอบไปด้วยว่าสถานที่ตกลงว่าจะมีหรือเตรียมอะไรให้เราบ้าง เช่น มีดอกไม้ติดหน้าอกให้ 6 อัน ช่อเจ้าสาว 1 ช่อ โลโก้บนเวที เป็นต้น ของบางอย่างสามารถต่อลองได้โดยไม่ต้องเพิ่มเงิน อย่างเช่นช่อดอกไม้ติดหน้าอก ในสัญญามีให้ 6 อัน แต่ในงานเราต้องใช้ 8 อัน ก็ลองขอเพิ่มดูได้ ซึ่งปกติส่วนนี้สถานที่มักจะไม่ได้คิดเงินเพิ่ม แต่บางอย่างก็อาจจะต้องเพิ่มเงิน เช่น โลโก้บนเวทีของบ่าวสาว ตามสัญญาอาจจะได้แค่สติ๊กเกอร์ติดบนโฟม ถ้าบ่าวสาวอยากอัฟเกรดให้สวยขึ้นเป็นอะคริลิคไดคัต แบบนี้อาจจะต้องเพิ่มเงินเพราะสถานที่จัดงานอาจจะต้องไปให้เอ้าท์ซอร์สทำให้ เป็นต้น สำหรับของใช้ในพิธีที่ทางสถานที่เตรียมให้เป็นแบบที่ทำขึ้นใหม่ เราสามารถส่งรูปเพื่อเป็น reference ให้กับสถานที่เพื่อให้เตรียมออกมาได้ถูกใจเรามากที่สุดได้ เช่น ช่อดอกไม้เจ้าสาว มาลัยมงคล เป็นต้น

5. แจ้งขอใช้ห้องว่างเพิ่มเติม หลายสถานที่จัดงานสามารถขอใช้ห้องประชุมที่ว่างอยู่เพิ่มเติมได้สำหรับเอาไว้ให้เพื่อนเจ้าสาว หรือว่าญาตินัดช่างแต่งหน้ามาแต่งด้วยกัน ซึ่งหากงานเรามีแพลนว่าจะต้องใช้ให้แจ้งกับสถานที่ไว้เลย จะได้ทราบว่ามีห้องให้เราใช้ได้หรือไม่ ถ้ามีให้แจ้งเวลาเข้าใช้ พร้อมกับขอชื่อห้องมาไว้ให้เรียบร้อยเลย จะได้แจ้งให้เพื่อนเจ้าสาวหรือญาติได้ทราบเอาไว้เลย วันงานจะได้ไม่ต้องโทรมาสอบถามกันให้วุ่นวาย และถ้ามีใช้หลายห้องควรให้สถานที่จัดงานติดป้ายหน้าห้องให้ชัดเจนด้วย 

6. คอนเฟิร์มรูปแบบการจัดเลี้ยงตอนกลางวันพร้อมจำนวน งานหมั้นหลายคนเข้าใจว่าไม่ต้องเลี้ยงอาหารก็ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดและไม่แนะนำเลย เพราะงานหมั้นเป็นงานที่เราจะเชิญแต่คนสนิทที่เรารักมากร่วมงาน ทุกคนต้องตื่นแต่เช้าและอยู่ร่วมพิธีการกับเราเป็นเวลาหลายชั่วโมง พอจบพิธีการทุกคนในงานส่วนใหญ่จะหิวอย่างแน่นอน ถ้าเราจบงานโดยไม่มีการเลี้ยงอาหารเลยจะดูเป็นการเสียมารยาทมากๆ จะถูกพูดได้ว่าจัดงานไม่ดีเลย เชิญมาตั้งแต่เช้าแต่จบงานไม่มีอะไรให้ทานเลย หากเรามีงบไม่มากพอจะจัดเลี้ยงจริงจังอย่างโต๊ะจีน หรือบัพเฟต์ อย่างน้อยๆก็ควรมีซุ้มอาหาร สัก 2 ซุ้มให้แขกได้รองท้องก่อนไปหาอะไรจริงจังทานเองก็ยังดีกว่า ยังถือว่าจบงานได้สวย ไม่ให้ใครมาว่าได้

งานเลี้ยงฉลอง

1. คอนเฟิร์มจำนวนอาหารและเมนู งานเลี้ยงฉลองจำนวนแขกจะมากกว่างานหมั้นค่อนข้างเยอะจึงต้องรีบแจ้งจำนวนอาหารที่จะสั่งให้กับสถานที่ทราบ เพื่อที่ทางสถานที่จะได้ไปวางแผนการสั่งวัตถุดิบต่อไป ส่วนว่าจะต้องคอนเฟิร์มอาหารจำนวนเท่าไร ต้องเผื่อมากน้อยขนาดไหน มาดูแนวทางกัน

จัดเลี้ยงโต๊ะจีน อย่างที่เคยเกริ่นไปแล้วตั้งแต่ขั้นตอนแรกๆของการเตรียมงานว่า การจัดเลี้ยงโต๊ะจีนต้องทำการบ้านเรื่องแขกเยอะ เพื่อที่เราจะได้จัดการงบในส่วนของค่าอาหารได้อย่างไม่บานปลาย ถ้าเรามีการจดรายชื่อแขกพร้อมผู้ติดตามอย่างละเอียด รวมถึงติดแท็กแยกหมวดหมู่อย่างดี การจัดแขกลงโต๊ะจีนจะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เราสามารถนำข้อมูลดังกล่าวมาจัดแขกลงโต๊ะให้พอดีหรือใกล้เคียงได้อย่างไม่ยาก เมื่อจัดแขกลงโต๊ะเรียบร้อย และประเมินแล้วว่าไม่น่าจะมีแขกนอกเหนือจากรายชื่อที่เรามีมาเพิ่มอีก หรือถ้ามีก็ไม่เกิน 5-10% เราสามารถคอนเฟิร์มจำนวนโต๊ะจีนตามจริงโดยไม่ต้องเผื่อได้เลย เพราะตัวสถานที่เองจะเผื่ออาหารหรือที่เรียกว่าโต๊ะสำรองไว้ให้เรา 5-10% จากจำนวนที่การันตีอยู่แล้ว (เช็คกับสถานที่จัดงานของตัวเองอีกที) ซึ่งโต๊ะสำรองที่ทางสถานที่เตรียมไว้ให้ถ้าหากหน้างานไม่มีการเปิดโต๊ะก็ไม่ต้องเสียเงินเพิ่มแต่อย่างใด

จัดเลี้ยงบัฟเฟ่ต์ เป็นรูปแบบการจัดเลี้ยงที่คล้ายกับโต๊ะจีน เพราะต้องมีการจัดแขกลงโต๊ะเช่นกัน ดังนั้นถ้าทำการบ้านเรื่องจดรายชื่อแขกและผู้ติดตามมาอย่างละเอียด สามารถคอนเฟิร์มจำนวนแขกตามจริงได้เลย ไม่แนะนำให้แจ้งจำนวนแขกน้อยกว่าจำนวนแขกที่จะมาจริง เพราะคิดว่ารูปแบบบัฟเฟ่ต์เป็นแบบการเติมอาหารให้ไม่อั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วคำว่าไม่อั้นก็ถูกคำนวนมาจากจำนวนแขกที่บ่าวสาวคอนเฟิร์มกับทางสถานที่มานั่นเอง ถ้าหน้างานแขกมาเยอะกว่าที่คอนเฟิร์มมา อาจเกิดปัญหาอาหารไม่พอได้ หรือถ้าหน้างานสถานที่สามารถทำอาหารเพิ่มให้ได้ก็อาจจะล่าช้าและไม่ต่อเนื่อง จะทำให้ดูเหมือนเราเตรียมงานมาไม่ดีได้

จัดเลี้ยงค็อกเทล การจัดเลี้ยงรูปแบบค็อกเทลจะมีการคำนวณปริมาณอาหารที่ซับซ้อนกว่ารูปแบบการจัดเลี้ยงอื่นเล็กน้อย เพราะจะมีในส่วนของซุ้มอาหารเพิ่มเข้ามา เมื่อได้จำนวนแขกจากการจดรายชื่อแขกและผู้ติดตามมาอย่างละเอียดแล้ว เราจะแบ่งการคอนเฟิร์มจำนวนอาหารเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนของอาหารค็อกเทล และ ส่วนของซุ้มอาหาร

สำหรับอาหารค็อกเทลนั้น ค่าใช้จ่ายจะรวมเครื่องดื่มของแขกในงานด้วย หมายถึงน้ำเปล่าและน้ำอัดลม บางที่มีน้ำสมุนไพรด้วย การคอนเฟิร์มอาหารในส่วนนี้ในการจัดงานกันจริงๆจะประเมินก่อนว่าอาหารค็อกเทลของสถานที่ที่เราเลือกอร่อยหรือไม่ ถ้าอร่อยก็จะแนะนำให้คอนเฟิร์มจำนวนค็อกเทลตามจำนวนแขกที่ใกล้เคียงตัวเลขจริงได้เลย เช่น คาดว่าแขกจะมาทั้งหมด 350 คน ก็ให้คอนเฟิร์มที่ 300 คนได้ แต่ถ้าหากอาหารค็อกเทลไม่ค่อยอร่อย คาดว่าแขกจะไม่ค่อยทาน ก็จะแนะนำให้คอนเฟิร์มที่ 250 คน แล้วเดี๋ยวเราไปเตรียมในส่วนของซุ้มอาหารให้เพียงพอแทน ซึ่งบางสถานที่อาจจะไม่ยอมให้เราคอนเฟิร์มน้อยกว่าจำนวนแขกที่คาดว่าจะมาจริงมีส่วนต่างเยอะถึง 100 คน เราอาจจะต่อรองว่าถ้าแขกมาเกินเราขอจ่ายเพิ่มในส่วนของเครื่องดื่มได้ไหม โดยโรงแรมไม่ต้องทำอาหารในส่วนของค็อกเทลเพิ่ม และเราจะสั่งซุ้มอาหารให้เพียงพอกับแค่ในงานทั้งหมดแทน

สำหรับซุ้มอาหารที่เพิ่มเติมในการจัดเลี้ยงค็อกเทลนั้น วัตุประสงค์เพื่อให้แขกทานอาหารได้อิ่ม ดังนั้นลักษณะจะเป็นอาหารหนักแบบจานเดี่ยว เช่น ข้าวหมูแดง ข้าวหมูกรอบ ข้าวมันไก่ ก๋วยเตี๋ยว เป็นต้น ซึ่งจะนับจำนวนหน่วยเป็น portion

1 portion = 1 จานที่เสิร์ฟให้แขก

คำถามคือแล้วเราจะรู้ได้ยังงัยว่าเราต้องสั่งอาหารทั้งหมดกี่ portion ถึงจะเพียงพอกับแขกในงาน และต้องมีอาหารกี่ซุ้ม(กี่อย่าง)ถึงจะพอดี เรามาดูวิธีคำนวณกัน

ตัวเลขที่นิยมใช้ในการคำนวณปริมาณอาหารสำหรับซุ้มอาหารคือ 4 portions/คน หมายถึง แขก 1 คน ทาน 4 portions ถึงจะอิ่มกำลังดี บางคนอาจโต้แย้งว่า 1 คนจะทานถึง 4 จานเลยหรอ ไม่เยอะไปหรอ ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า portion ของอาหารซุ้มในงานแต่งงาน ไม่ได้จานใหญ่หรือปริมาณเยอะเท่าอาหารจานเดี่ยวที่เราสั่งทานโดยทั่วไป ดังนั้นจำนวน 4 portions จึงไม่เยอะไปอย่างแน่นอน

ส่วนคำถามว่าแล้วควรจะมีกี่ซุ้มดี แนะนำว่าให้มีประมาณ 4-6 ซุ้ม สำหรับแขก 250-400 คน เป็นจำนวนที่กำลังดี มีความหลากหลาย แต่ก็ยังไม่มากเกินไป การมีจำนวนซุ้มที่มากเกินไปก็ใช่ว่าจะดี เพราะยิ่งจำนวนซุ้มเยอะปริมาณอาหารของแต่ละซุ้มก็จะน้อยลง หมายความว่ามีซุ้มอาหารหลายอย่างมาก แต่ว่าแต่ละซุ้มมีปริมาณอาหารน้อยมาก ปริมาณ portion โดยรวมอาจจะพอกับจำนวนแขกทั้งหมด แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ อาหารอะไรที่นิยมมากก็จะหมดเร็วมากเพราะว่ามีปริมาณน้อย ทำให้ดูเหมือนว่าเราเตรียมอาหารไว้ไม่พอได้ ทั้งๆที่ความจริงซุ้มอื่นอาหารก็ยังไม่หมด หมดแค่อาหารบางชนิดที่คนนิยมทานเท่านั้น แต่ภาพรวมก็จะดูไม่ดีแล้ว

ตัวอย่างการคำนวณจำนวนอาหารของซุ้มอาหารสำหรับแขก 350 คน
350 x 4 = 1,400 portions คือจำนวนของอาหารซุ้มที่เราต้องสั่ง

สมมติว่าเราอยากมี 5 ซุ้มในงาน 1,400/5 = 280 portions/ซุ้ม

ซึ่งเราสามารถเอาจำนวนมาถัวเฉลี่ยกันได้ เช่น สั่งซุ้มพาสต้า 200 portions, ซุ้มข้าวหมูแดง 300 portions, ซุ้มกระเพาะปลา 300 portions, ซุ้มข้าวมันไก่ 300 portions และ ซุ้มเกี๊ยวน้ำ 300 portions รวมทั้งหมด 1,400 portions แบบนี้ก็ได้ สำหรับซุ้มอาหารแนะนำว่าควรสั่งให้เพียงพอกับแขกที่แท้จริงที่เราคาดว่าจะมา เพราะอาหารซุ้มเป็นสิ่งที่แขกในงานนิยมทานมากกว่าอาหารค็อกเทล ถ้าเตรียมไว้เท่ากับจำนวนอาหารค็อกเทลอาหารจะหมดเร็วมาก เจ้าภาพจะถูกมองว่าจัดงานไม่ดี เตรียมอาหารไว้ไม่เพียงพอกับแขกที่เชิญมาได้

2. แจ้งธีมสีของงาน เพื่อให้สถานที่ได้เตรียมดอกไม้ตกแต่งในจุดต่างๆที่มีในแพ็คเกจได้เข้ากับการตกแต่งในส่วนอื่นๆของงานของเรา สำหรับของในแพ็คเกจที่ทางสถานที่เตรียมให้เป็นแบบทำขึ้นใหม่ เราสามารถส่งรูปเพื่อเป็น reference ให้กับสถานที่เพื่อให้เตรียมออกมาได้ถูกใจเรามากที่สุดได้ เช่น ช่อดอกไม้เจ้าสาว ดอกไม้ติดหน้าอก เป็นต้น

3. เลือกสีผ้าปูโต๊ะลงทะเบียน แจ้งจำนวนผู้นั่งที่โต๊ะลงทะเบียน เพื่อให้สถานที่จัดเตรียมโต๊ะและเก้าอี้ได้อย่างเพียงพอ ถ้าต้องใช้ที่วางของชำร่วยอย่าลืมเช็คกับสถานที่ด้วยว่ามีให้หรือไม่

4. เลือกสีผ้าปูโต๊ะอาหาร ผ้าปูโต๊ะเค้ก แบบเค้ก สีผ้าทำสเกิร์ตเวที ความสูงของเวที

5. ทีมแสงและเครื่องเสียง หากมีการนำเข้าทีมแสงและเครื่องเสียงต้องแจ้งให้สถานที่ทราบล่วงหน้าด้วย และอย่าลืมขอเบอร์ติดต่อกับทีม AV ของสถานที่จัดงาน เพื่อนำมาคุยประสานงานกับทีมงานของเรา หากมีการใช้ smoke ในงาน ก็ต้องแจ้งให้สถานที่ทราบด้วย

6. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากมีการเลี้ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงาน ต้องแจ้งชนิดและจำนวนที่จะนำเข้ามาให้สถานที่จัดงานได้ทราบด้วย เพื่อที่สถานที่จะได้เตรียมแก้วให้เหมาะสมกับเครื่องดื่มที่เราเตรียมมา

7. ที่จอดรถ หากสถานที่จัดงานมีการกันที่จอดรถ VIP ให้ ต้องแจ้งเลขทะเบียนให้กับสถานที่ทราบด้วย

8. After party หากมีต้องแจ้งให้สถานที่ทราบด้วยว่าจะจัดกี่ชั่วโมง แบ่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สำหรับงานเลี้ยงและ After party อย่างไร